วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิชาชีพสถาปนิกในทัศนะคติของข้าพเจ้า



วิชาชีพสถาปนิกในทัศนะคติของข้าพเจ้า



                ผมรู้จักคำว่า "สถาปนิก" เป็นครั้งแรกในตอนที่จะเลือกสายการเรียนต่อในชั้นมัธยมปลาย คุยกันในหมู่เพื่อนว่าจะเรียนต่อที่ไหน สายอะไร อยากเป็นอะไรในอนาคต ในตอนนั้นยังไม่เคยได้คิดว่าอนาคตอยากจะเป็นอะไร เรียนๆ เล่นๆ ไม่ได้คิดอะไร เพื่อนคนนึงก็บอกว่า “ถ้าชอบวาดรูป น่าจะเรียนสถาปัตย์ฯนะ” ตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่าสถาปนิก/สถาปัตยกรรม คืออะไร แต่ก็ยังไม่ได้คิดอะไร ก็เก็บไว้เป็นหนึ่งในทางเลือกในอนาคต (ทั้งที่ยังไม่รู้จัก รู้แค่ได้วาดรูป) แต่สุดท้ายก็เลือกเรียนมัธยมปลาย สายวิทย์-คณิต ตามที่คนในครอบครัวแนะนำ ที่ว่าเรียนสายนี้จะมีทางเลือกในการเรียนต่อได้มากกว่า จนวันหนึ่งในช่วงปิดเทอมระหว่างช่วงมัธยมต้นและมัธยมปลาย ลุงของผมพาผมไปเดินงานสถาปนิก เพื่อหาของและแรงบันดาลใจในการตกแต่งบ้าน ซึ่งลุงเป็นคนที่ชื่นชอบการตกแต่งบ้านอยู่แล้ว การไปเที่ยวชมงานสถาปนิกในครั้งนั้น เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ทำความรู้จักกับอาชีพสถาปนิก ระหว่างการเดินชมงานลุงก็ได้อธิบายเกี่ยวกับสถาปนิกจากประสบการณ์ที่พบเจอเท่าที่ลุงพอจะรู้ ว่าสถาปนิกเป็นใคร ทำอะไร เป็นต้น พอเริ่มรู้จักก็คิดว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ ความจริงในตอนนั้นลุงของผมตั้งใจจะหาแนวทางในชีวิตมาให้ จะได้มีเป้าหมายตั้งแต่ต้น จะได้พัฒนาให้ถูกจุด โดยคิดว่าผมน่าจะสนใจในด้านนี้ เพราะชอบการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ผมมีความคิดที่อยากจะเป็นสถาปนิก และเลือกเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

                
                จากวันนั้นที่ได้เริ่มรู้จักกับอาชีพสถาปนิก ทำให้ผมเริ่มที่จะสนใจ หาข้อมูลเพิ่มเติม และต่อมาก็หาที่เรียนความถนัดทางสถาปัตยกรรมในช่วงปิดเทอม พอดีมีโครงการติวของหลายๆมหาวิทยาลัย ผมเลือกไปเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด เมื่อไปเรียนได้ฟังเรื่องราวจากรุ่นพี่ และการได้วาดรูปตามโจทย์ ก็รู้สึกชอบมากกว่าเดิม ทำให้ผมมีความสนใจและตัดสินใจเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์



ช่วงชีวิตที่เรียนอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

                -ปี1 เป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ได้ลองทำอะไรใหม่ๆมากมาย ทั้งการออกแบบ เขียนแบบ ตัดโมเดล ฝึกการคิดเบื้องต้นต่างๆ กิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงการอดหลับอดนอน เป็นช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวกับสังคมและการใช้ชีวิตแบบใหม่ ชีวิตในตอนนั้น ทั้งสนุก ทั้งเหนื่อย แต่ก็มีความสุขที่ได้ทำ

                -ปี2 ได้นำแนวคิดที่ได้เรียนรู้มาในชั้นปี1 มาประยุกต์ใช้กับงานสถาปัตยกรรม เรียนรู้เกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมมากขึ้น เรียนรู้การคิดที่เป็นระบบ การเรียนตอนปี1ว่าเหนื่อยแล้ว ปี2เหนื่อยยิ่งกว่า แม้จะเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง ในบางครั้ง สุขบ้าง เศร้าบ้าง แต่ก็ยังคงสนุกกับการทำงาน


                -ปี3 การออกแบบงานสถาปัตยกรรมมีความซับซ้อนมากขึ้น ยากขึ้น คิดมากขึ้น แต่ความเหนื่อยน้อยลง อาจเป็นเพราะมีงานกลุ่มมากขึ้นและชินกับการเรียน การทำงาน แต่ยังสนุกกับงานอยู่

                -ปี4 เป็นปีที่งานหนักมากที่สุดเท่าที่เคยเรียนมา งานออกแบบสถาปัตยกรรมมีความซับซ้อนมากขั้น คิดมากขึ้น ชิ้นใหญ่มากขึ้นมากๆ ทำให้มีช่วงที่เหนื่อยและท้อมาก มีช่วงที่ท้อใจสุดๆ จนไฟที่จะเป็นสถาปนิกมอดลง เริ่มมีความกังวลและลังเลที่จะเป็นสถาปนิกในอนาคต แต่ได้กำลังใจจากคนรอบข้าง และเหตุการณ์ต่างๆที่พบเจอในชีวิตการเรียน ก็จุดไฟฝันที่อยากจะเป็นสถาปนิกนั้นกลับขึ้นมาอีกครั้ง


 

                ผลงานวิทยานิพนธ์ (Thesis) ในปี5 ผมสนใจที่จะออกแบบ "ศูนย์ส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เด็ก" เพราะเป็นการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงการใช้งานของเด็กเป็นหลักด้วย เป็นการออกแบบที่เฉพาะลงไปอีก เป็นโครงการที่สามารถเล่นกับ Concept ได้พอสมควร และด้วยความที่อาจารย์ที่ปรึกษาในวิชา Design และคนรอบข้างบอกว่าผมเป็นคนที่มีความเป็นเด็กอยู่ในตัวอยู่ ไม่ค่อยยอมโต ดื้อบ้าง ซนบ้าง และยังชอบคิดอะไรจุกจิก เลยคิดว่าโครงการนี้น่าจะได้ใช้ความเป็นเด็กในตัวเองที่มีอยู่ และประสบการณ์ในวัยเด็กมาเป็นแนวคิดในการออกแบบได้ ซึ่งน่าจะเหมาะกับผม

ประโยชน์ของโครงการนี้ คือ ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กในส่วนความคิดสร้างสรรค์ ที่นอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียน และความคิดสร้างสรรค์นี้เองเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ พัฒนาสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์ ความสะดวกสบาย และความบันเทิงของมนุษย์ เป็นต้น ประกอบกับช่วงวัยเด็กเป็นช่วงที่พัฒนาการต่างๆเกิดขึ้นได้รวดเร็วกว่าช่วงวัยอื่นๆ จึงควรส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้เติบโตไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ ช่วยผลักดันและพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมนานาประเทศต่อไป

                จนถึงวันนี้ ที่ได้เริ่มเรียนวิชาการประกอบวิชาชีพแล้ว เข้าใจเกี่ยวกับวิชาชีพสถาปนิกมากยิ่งขึ้นมากกว่าเดิม รู้ว่าสถาปนิกคือใคร ทำหน้าที่อะไร เรียนจบไปแล้ว สามารถไปทำงานเป็นสถาปนิกได้ในส่วนใดบ้าง หน้าที่ต่างๆ การทำงานของสถาปนิก การคิดค่าบริการวิชาชีพสถาปนิก และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆของสถาปนิก เป็นต้น ทั้งนี้เป็นประโยชน์ในการทำงานเป็นสถาปนิกในอนาคต

                เมื่อเรียนจบแล้ว ผมตั้งใจที่จะประกอบอาชีพเป็นสถาปนิก ตามที่ได้ใฝ่ฝันไว้ อยากทำงานในส่วนของการออกแบบ ส่วนตัวผมชอบในการออกแบบ และ Sketch ความคิดต่างๆออกมา ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่เก่ง ทั้งในการออกแบบเอง การแบ่งเวลา การทำงานโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่ก็จะพยายามพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น และมีความสุขกับงานที่ทำ



                สถาปนิก Idol ที่เป็นแบบอย่างในการทำงานอาชีพสถาปนิก 

-สถาปนิกต่างประเทศ
Mies Van der Rohe สถาปนิกเยอรมัน/อเมริกัน ที่เป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงในยุค Modern กับวลีที่ว่า “Less is More” งานสถาปัตยกรรมของเขานั้นเป็นผลงานต้นแบบที่เป็นแบบอย่างให้แก่สถาปนิกรุ่นหลังต่อไป





 
-สถาปนิกไทย
คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกไทยที่เป็นที่ยอมรับในวงการสถาปัตยกรรมระดับโลก เขามีมุมมองและแนวคิดที่น่าสนใจ ที่คิดว่า การฝึกฝนสำคัญกว่าพรสวรรค์ เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตนในการทำงานสถาปัตยกรรมให้ประสบความสำเร็จ

               






  


                            ผลงานทางสถาปัตยกรรมที่คิดว่าดี เป็นตัวอย่างในการออกแบบที่อยากทำ คือ Fuji International Kindergarten เป็นโรงเรียนอนุบาล ที่สามารถนำมาปรับใช้กับวิทยานิพนธ์ได้ โดยผลงานชิ้นนี้คำนึงถึงการใช้งานของเด็ก ที่มีสัดส่วนเล็กกว่าผู้ใหญ่ และสภาพแวดล้อมรอบข้าง แนวคิดของอาคารเรียนนั้นเป็นของเล่นขนาดใหญ่ โดยอาคารเรียนมีรูปทรงคล้ายโดนัทล้อมรอบลานกลาง

               
                 ในส่วนของการฝึกงานช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนนี้ ตอนนี้อยู่ในช่วงการหาสถานที่ฝึกงาน และทำPortfolio แต่คาดว่าน่าจะเป็นบริษัทที่อยู่ใกล้บ้าน หรือสามารถเดินทางได้สะดวก สิ่งที่คาดหวังที่จะได้จากการการฝึกงาน คือ ประสบการณ์ในการทำงานจริงของสถาปนิก เรียนรู้วิธีการทำงานจริงของสถาปนิก ทักษะและแนวคิดในการทำงานออกแบบ เพื่อนำมาพัฒนาตัวเองในการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต




                คุณพ่อเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวเข้ามาสู่วิชาชีพสถาปนิก เป็นก้าวแรกเลยก็ว่าได้ เพราะพ่อของผมชื่นชอบศิลปะและการวาดรูปอยู่แล้ว ผมเห็นมาตั้งแต่เด็ก เป็นส่วนที่ทำให้ผมชอบการวาดรูปมาตั้งแต่จำความได้ เวลาว่างถ้าไม่ออกไปวิ่งเล่นก็จะมานั่งวาดรูปอยู่เป็นประจำ ชอบดูการ์ตูน อ่านการ์ตูน แล้วก็จำเอามาวาดรูป และของเล่นที่ชอบเล่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ Lego
         ในส่วนในเรื่องของการเรียนพ่อและแม่ก็ไม่ได้บังคับว่าจะให้เรียนอะไร ปล่อยให้เรียนตามที่เราอยากเรียน ค่อนข้างเปิดกว้างให้มีอิสระในการคิด การทำ (เช่น การไม่บังคับให้ใช้มือขวาเขียนเหมือนคนอื่นๆ เลยถนัดมือซ้ายมาจนถึงปัจจุบัน) แต่อยู่ในความถูกต้อง ไม่ออกนอกลู่นอกทาง แต่อาจมีบ่นบ้าง ว่าบ้าง ด้วยความหวังดี ไม่กดดันเรื่องเกรดหรือผลการเรียน ไม่จำเป็นต้องได้เกรดดีมาก แค่อยู่ในระดับที่ดีพอประมาณ พอที่เราจะทำได้ และที่สำคัญที่สุดคือ พ่อกับแม่คอยให้กำลังใจในเวลาที่เราเหนื่อย ท้อใจในการเรียน และการใช้ชีวิตต่างๆ ถึงแม้ไม่ค่อยได้เจอกัน เวลาที่กลับไปที่บ้านก็เหมือนการกลับไปเติมกำลังใจให้กลับมาสู้ต่อ ในบางครั้งที่เหนื่อย ท้อ ก็โทรศัพท์ไปหาพ่อกับแม่ โทรไปเล่า ระบาย บ่น งี่เง่า งอแง ให้ตัวเองสบายใจ แล้วก็มักจะได้คำปลอบใจ ให้กำลังใจ ซึ่งมีผลต่อความรู้สึกมากๆ ทำให้สู้ต่อมาเรื่อยๆ

                 

                 เมื่อได้เป็นสถาปนิกแล้ว เป้าหมายของผมก็เริ่มที่จะทำงานออกแบบให้ดีที่สุด พัฒนาตัวเองต่อไป มีความสุขกับงานที่ทำ สามารถแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ และดูแลครอบครัวได้ เดินทางไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อศึกษาเพิ่มเติมบ้าง หลังจากทำงานเป็นสถาปนิกแล้ว คิดว่าจะย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด ใช้เวลากับครอบครัวและทำกิจกรรมต่างๆที่รัก
ประโยชน์ต่อสังคมสถาปนิกและประเทศ คือนำความรู้ที่ได้จากการเรียนมาใช้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคม ไม่ละเลยจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน โดยคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวม ประโยชน์ต่อสังคม และความสวยงามของงาน เพราะงานสถาปัตยกรรมนั้นจะยังอยู่ในสังคมต่อไป ให้ผู้คนได้ใช้พื้นที่และชื่นชมความสวยงาม แสดงให้เห็นว่าสถาปนิกไทยก็มีศักยภาพไม่แพ้ประเทศอื่นๆ


              


                วิชาชีพสถาปนิกในทัศนะคติของข้าพเจ้า เป็นอาชีพที่วางแผนและออกแบบที่ว่างและงานสถาปัตยกรรม ให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์และสอดคล้องกับสัดส่วนของมนุษย์ โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้งานและความสวยงาม
                           ผมมีความฝันอยากจะเป็น “สถาปนิก” ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังเป็นแค่เด็กตัวเล็กๆธรรมดาๆคนนึง ไม่ได้เก่งกาจอะไร แต่จะเรียนรู้ ฝึกฝนตัวเองต่อไปให้เป็นสถาปนิกที่ดีได้อย่างที่พ่อแม่และคนรอบข้างคาดหวัง และใช้ความรู้ความสามารถสร้างสรรค์งานที่ดีออกมา และก่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมให้ได้เท่าที่จะทำได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น