วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สถาปนิกต้นแบบ รุ่นพี่ลาดกระบัง



สถาปนิกต้นแบบ รุ่นพี่ลาดกระบัง


บทสัมภาษณ์กับพี่เสนีย์ ห้วยหงษ์ทอง เกี่ยวกับการเรียนและการประกอบวิชาชีพทางสถาปัตยกรรม

พู่กัน:พี่ช่วยเล่าประวัติส่วนตัวคร่าวๆเกี่ยวกับพี่ ความเป็นมา ชีวิตการเรียนที่คณะสถาปัตย์ หน่อยคับ
พี่เส: แนะนำตัวก่อนเลยนะครับ พี่ชื่อพี่เส เสนีย์ ห้วยหงษ์ทอง เข้าเรียนคณะสถาปัตย์ ลาดกระบัง เมื่อปีการศึกษา 2540 รหัสประจำตัว 40025151 จบในปีการศึกษา 2544
ในสมัยที่พี่เรียนที่ลาดกระบังต่างจากตอนนี้มาก ถนนยังก่อสร้างไม่เสร็จเลย การเดินทางลำบากมาก นั่งรถไฟไปเรียน เริ่มแรกที่เข้าเรียนพี่อยู่หอตรงแถวหมู่บ้านรุ่งอรุณ เลยคณะครุศาสตร์ไปอีก ที่ข้ามสะพานข้ามมอเตอร์เวย์ไป ในสมัยนั้นทางมันยังไม่ดี ก็ขี่จักรยานมาเรียนแบกซองกระดาษ A1 อันตรายมาก ลำบากมาก ชีวิตมาหาวิทยาลัยตรงข้ามกับที่คิดมาก ตอนนั้นย้ายเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ตอนม.ปลายพี่เรียนที่นครปฐม ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เห็นคณะสถาปัตย์ที่ศิลปากร ติวที่ศิลปากร ก็ติดภาพที่นั่นมา ตอนนั้นยังไม่รู้จักลาดกระบังเลยว่าเป็นยังไง เลยคิดว่าน่าจะคล้ายๆที่ศิลปากร มาเห็นแล้วแตกต่างกันมาก ต้นไม้น้อยมาก ต่างจากที่ศิลปากรที่ต้นไม้เยอะมาก ที่เป็นภาพมหาวิทยาลัยที่พี่คิดไว้อ่ะ ที่นี่มีทางรถไฟ ถนน แบ่งเป็น 4 ฝั่ง 

พู่กัน: แล้วการเรียนในคณะล่ะครับ
พี่เส:มันมีบางอย่างที่ดีที่การเรียนคณะเราต่างจากคณะอื่น คณะอื่นไม่มีเหมือนเรา เวลาเรียนเสร็จแล้วไม่ได้กลับบ้านเลย ต้องมาทำงานต่อ จะเขียนแบบเป็นได้มันต้องมานั่งทำงานกันอ่ะ เขียนกันถึงเช้า แต่ช่วงเรียนนี่สนุกนะ ตอนอยู่ลาดกระบัง ทำงานที่คณะ นอนที่คณะ แรกๆทำงานไม่เป็น ก็มีรุ่นพี่ช่วยสอน ทำงานที่สตูดิโอ ทำงานกับเพื่อนๆ ถามเวลาสงสัย มีอะไรคุยไปเรื่อย มันมีสิ่งนึงที่คณะนี้ไม่เหมือนคณะอื่น ได้ทำงานด้วยกัน อยู่กลุ่มเดียวกัน กินนอนด้วยกัน รู้สึกเลยว่าโชคดีที่ได้เรียนคณะนี้ 

พู่กัน: แล้วทำไมตอนแรกพี่ถึงเลือกมาเรียนคณะสถาปัตย์ครับ
พี่เส: ตอนนั้น มันมีสาเหตุหลักๆที่ทำให้คนเลือกมาเรียนคณะสถาปัตย์ ก็มีละครเรื่อง เคหาสน์ดาว มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาปนิก ตัวเอกเป็นสถาปนิก ทำให้ได้เห็นชีวิตของสถาปนิก ได้เห็นว่าคณะนี้มันน่าเรียนจัง ได้ออกแบบบ้าน
แต่ของพี่ จริงๆแล้วชอบวาดรูป นั่งวาดการ์ตูนตั้งแต่เด็ก ซึมซับมาเรื่อยๆ ตอนสมัยมัธยม มันก็มีวิชาเลือก ก็ไปเลือกเรียนพวกศิลปะ แต่ด้วยความที่ว่าชอบวิทยาศาสตร์ด้วย แล้วมันก็มีแค่ไม่กี่คณะที่ได้เรียนศิลปะด้วยแล้วก็เรียนวิทยาศาสตร์ด้วย พี่ชอบวิชาฟิสิกส์ มันเห็นภาพได้ง่าย มีการทดลองที่เห็นได้เลย แต่ไม่ชอบพวกเคมีกับชีวะ ไม่ชอบเรียนพวกท่องจำ และคณะสถาปัตย์แทบจะเป็นคณะเดียวที่ไม่ต้องสอบเคมีกับชีวะ เข้าแก็บเลย ก็เบนเข็มมาสถาปัตย์ คิดว่ามันน่าจะเท่เหมือนในละคร ก็เลยมาเลือกเข้าคณะสถาปัตย์

พู่กัน: แล้วในความคิดเกี่ยวกับการเรียนคณะสถาปัตย์ตอนก่อนเข้าเรียนกับตอนที่ได้มาเรียนจริงๆ นี่แตกต่างกันมั้ยครับ
พี่เส:ในตอนนั้น คิดว่าบ้านมันเป็นอะไรที่ ใครๆก็ทำได้ ออกแบบได้นี่สุดยอด แต่จริงๆแล้วเนี่ย กว่าจะออกมาเป็นบ้านได้ มันต้องสั่งสมประสบการณ์ด้านการออกแบบ ด้าน Visual ด้าน Design ด้าน Con ทุกอย่างกว่าจะมาเป็นบ้านได้ ก็เช่นอย่างในคณะที่มันจะมีแต่ละวิชา หลายๆวิชา ที่เราอาจจะคิดว่าเรียนไปทำไมเนี่ย แต่จริงๆพอจบมาแล้วเนี่ย มันคือการรวมเอาความรู้ตั้งแต่สมัยเราเรียน เอามาผนวกกัน จนออกแบบมาเป็นบ้านได้ เหมือนการทำ Project  ที่เริ่มต้นจากบ้าน อาคารสูงไม่กี่ชั้น อาคารสาธารณะ จนมาถึงตอนจบที่ต้องมาทำ Thesis ที่เหมือนเป็นการสรุปแล้วว่า ที่เราเรียนมาทั้งหมด 5 ปีเนี่ย เราสามารถเอาความรู้ที่เราเรียนมาทั้งหมดเนี่ยมาใช้ทำอะไรได้ ให้มันเป็นอาคารเกิดขึ้นจริงได้ สามารถเอาไปพัฒนาให้สร้างจริงได้

พู่กัน: แล้วตอนพี่ทำ Thesis นี่พี่ทำโครงการอะไรครับ
พี่เส: ยอดฮิตเลย Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ดนตรีไทย เป็นบ้านดนตรีของ อ.มนตรี ตราโมท ตอนคิดหัวข้อ Thesis ก็คิดไปเลยว่าไม่เน้นใหญ่ ทำเล็กๆ แต่พอเราจบออกมาแล้วเนี่ย โอกาสที่ได้ทำ Museum น้อยมาก ถ้าเราไม่ได้อยู่ Office ที่ชำนาญมนการทำ Museum ก็จะไม่ได้ทำเลย

พู่กัน: แล้วหลังจากเรียนจบแล้ว พี่ทำอะไร เรียนต่อ หรือทำงานเลยครับ
พี่เส:ช่วงที่พี่เข้าเรียนอ่ะ มันเป็นช่วงปี 2540 ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แล้วอาชีพเนี่ยมันขึ้นอยู่กับกลไกของตลาด แต่ถึงจบเนี่ยเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังจะเริ่มฟื้น ช่วงปี 2545  งานก็มีบ้าง แต่ยังไม่มาก แต่ช่วงที่พี่จบเนี่ยมันมีจุดให้ได้คิดก่อนว่าหลังจบเนี่ยรวมตัวกับเที่ยวก่อนเลย เดี๋ยวเวลาเราเข้าไปสู่วัยทำงานแล้วเราไม่ได้เที่ยว ไปเที่ยวหลวงพระบาง ประมาณ 9 วัน พอหลังจากจบเนี่ยแต่ละคนมันก็มีทางของแต่ละคน ช่วงนี้มันเป็นช่วงค้นหาตัวเองก่อน ว่าเราจะไปประกอบวิชาชีพนี้เลยทันที หรือว่าเราจะใช้เวลาทำสิ่งที่เราอยากทำก่อนที่เราจะไปทำงาน ตอนนี้อยากทำอะไรก็รีบทำเถอะ อะไรที่เราอยากทำ พวกกิจกรรมคณะส่วนเรื่องหลังเรียนจบ ตอนนั้นพี่ยังไม่อยากเรียนต่อ เพราะว่า เราเพิ่งทำ Thesis ไป ขอพักก่อนยังไม่อยากเรียนต่อ

พู่กัน: แล้วตอนเรียนพี่ทำกิจกรรมอะไรบ้างครับ
พี่เส: ก็มีพวกเชียร์ รับน้อง มีตติ้ง ติวน้อง ไม้สด งานจัดบูทอาษา งานสถาปนิกตอนนั้นปิดเทอมก็ต้องมานั่งทำงาน ส่งงาน พี่ก็ยังอยู่ในคณะ ว่างๆ ก็ช่วยกิจกรรม มีอะไรไปหมดอ่ะ สนุกดี มีไปพวกค่ายศิลป์ สนุกมาก พอจบมาแล้วก็ไม่มีโอกาสได้ไปทำแบบนี้อีกแล้ว สนุกดีนะเวลาทำกิจกรรมทั้งหลายที่คณะ

พู่กัน: อะไรที่พี่คิดว่าคณะสถาปัตย์ ลาดกระบัง มี แต่ที่อื่นไม่มีครับ
พี่เส:ที่ลาดกระบังไม่เหมือนใครก็คือ มันมีวิชาพื้นถิ่นของ อ.จิ๋ว วิชานี้นี่มันทำให้เราต่างจากที่อื่น เวลาเราออกแบบอะไร เราจะไม่ลืมรากของตัวเรา มันจะมีความเป็นพื้นถิ่น แบบที่ชาวบ้านที่เขาไม่ได้มีความรู้ด้านสถาปัตย์ แต่เขาสามารถทำออกมาสวยได้ มี Sense ความสุนทรีย์ บางอย่างที่เกิดจากการใช้ชีวิต พื้นที่ใช้งานจัดออกมาแล้วสวย เป็นสิ่งที่ที่อื่นเขาไม่ได้เน้นเหมือนลาดกระบัง ไปสัมผัสบรรยากาศชนบท ดูบ้านเรือน ดูวิถีชีวิตผู้คน การเรียนด้วยหนังสือ มันไม่สู้ไปเห็นด้วยตาของเราเอง ถ้าเราได้ออกไปดู ก็ได้ซึมซับมา เหมือนการอ่านหนังสือ ถ้าเราไม่ได้ออกไปเห็นของจริง เราก็จะจินตนาการไปต่อไม่ได้
แล้วก็พวกงานมือเนี่ยเวลาเรา Sketch มือ มันจะไม่เหมือนกับใช้คอม พื้นฐานของการ Sketch มือเนี่ย มันสามารถต่อยอดความคิดอะไรได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์ เราจินตนาการอะไร มือเราก็ลากไปได้เลย แต่ถ้าเป็นคอมเนี่ย แบตหมด ไม่มีไฟฟ้าก็ใช้ไม่ได้ มันก็เป็นเหมือนเครื่องมือชิ้นนึง วิธีที่อาจารย์ให้เราฝึกให้มือ Present มือเนี่ย มันเป็นการฝึกทักษะการใช้มือและสมองของเรา มันจะไม่เหมือนพวคอมพิวเตอร์ที่กดที่เดียวได้ ซึ่งสิ่งที่ได้มาเนี่ย อาจารย์เขาอยากให้เราฝึกกระบวนการทางความคิดจากสมองผ่านไปสู่มือ ซึ่งมันทำได้เรื่อยๆ เวลาไม่มีอุปกรณ์พวกนี้ก็สามารถทำงาน ต่อความคิดเราไปได้

พู่กัน: หลังจากเรียนจบแล้ว พี่ก็เข้าทำงานเลยรึเปล่าครับ
พี่เส: หลังจากทำ Thesis เสร็จ ก็พอแล้ว ไม่อยากเรียนต่อ ทำงาน เก็บเงินดีกว่า ทำงาน ไม่มีการบ้าน เลิกงาน กลับบ้าน เช้าก็มาทำงานใหม่

พู่กัน: แล้วพี่ทำงานที่ไหนครับ
พี่เส: เริ่มแรกเนี่ย พี่ก็ไปทำที่บริษัทรับสร้างบ้านก่อน ด้วยความที่เป็นสถาปนิกจบใหม่ ไม่มีใบ กส. เซ็นต์แบบไม่ได้ บริษัทจะเห็นว่าฝึกงานไม่นานก็เป็น ให้ทำอะไรก็ทำ เงินเดือนก็น้อย ก็ให้เราทำแบบ ทำไปสักพัก พอสอบได้ใบ กส. เซ็นต์แบบได้ เขาก็ให้เราเซ็นต์แบบทั้งที่เราออกแบบและไม่ได้ออกแบบ รู้สึกไม่ชอบ ผิดจรรยาบรรณด้วย เรามีจรรยาบรรณ เรามีใบประกอบวิชาชีพ เราไม่ควรไปเซ็นต์ แล้วต้องไปรับผิดชอบกับแบบที่เราไม่ได้ทำ อาชีพนี้มันต้องมีความรับผิดชอบ การที่มีคนเข้าไปอยู่อาศัยในอาคารๆนึงเนี่ย แล้วมันมีผลกระทบเสียหายต่อคนที่เข้าไปอยู่ในอาคารนั้นเนี่ย คนที่ลงนามในการออกแบบ หรือควบคุมงาน ต้องรับผิดชอบ ก็ทำบริษัทรับสร้างบ้านได้ปีนึงก็ออกมาทำ Freelance สักพัก
แต่ด้วยความที่ว่าลาดกระบัง มีพี่รหัส น้องรหัส ตอนนั้นพี่รหัส ก็กำลังจะเปิด Office ก็ติดต่อมา ด้วยความที่ว่าเคยช่วย Thesis พี่ เขาก็เห็นฝีมือว่าเราทำอะไรได้บ้าง รุ่นพี่ 2 คนเปิด Office ชื่อ Idin Architect พี่เป็นพนักงานคนแรกเลย ตั้งแต่สมัยก่อตั้งบริษัท ทำทุกอย่าง ตัดโมเดล เขียนแบบ เคลียร์แบบ ดีไซน์ติดต่องาน ประชุมด้วย เลยได้ทำอะไรหลายๆอย่างเยอะขึ้น  ทำได้ 3 ปี ก็เริ่มเบื่อระบบงานที่เป็นกิจวัตร ด้วยความว่าเราที่เริ่มจาก Office เล็กๆเราก็อยากรู้ว่า Officeข้างนอกเป็นยังไง Office ที่มันใหญ่ๆเป็นยังไง อยากลองเปลี่ยนแนวดูบ้าง
วันนึงได้ไปเห็นที่หน้างานจริงๆมันได้เห็นกระบวนการการก่อสร้าง เห็นขั้นตอนการก่อสร้างมันก็เกิดคำถามกับทางหน้างานแบบที่เราเขียนเนี่ย บางทีเขียนไปก็ไม่เข้าใจ ไปดูหน้างานแล้วมันเข้าใจมากขึ้น เขียนในกระดาษดูยังไงก็ดูไม่ออก มันต้องเห็นแบบ 3 มิติ เลยคิดว่าน่าจะชอบด้านก่อสร้าง เลยไปทำงานด้านควบคุมงานก่อสร้าง พวกงานคอนซัลท์ แต่ก่อนหน้าที่จะมาทำคอนซัลท์ ก็ไปเที่ยวก่อน ไปที่ฮอลแลนด์ ประมาณ 1 เดือน ออกไปดูโลกภายนอก เปิดโลกทัศน์ หลังจากนั้นก็กลับมาทำคอนซัลท์ที่บริษัทอรุณชัยเสรี (ACS)  พอไปทำคอนซัลท์มุมมองก็จะไม่เหมือนกับดีไซน์  งานดีไซน์ก็จะทำแบบให้ลูกค้าแล้วให้เขาไปคุยกับผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้าง คอนซัลท์เป็นการประสานงานระหว่างเจ้าของ ผู้รับเหมา ดีไซเนอร์ โดยมีคอนซัลท์อยู่ตรงกลาง จะมีปัญหามาให้เราแก้ปัญหาทุกวัน ต่างจากดีไซน์ที่แก้แต่แบบไปเรื่อยๆ คอนซัลท์เป็นการคุยกับคน งานคอนซัลท์ก็สนุกนะ มันไปอยู่ในลักษะงานจริง เราทำสักพักเราก็เริ่มรู้สึกว่า คอนซัลท์ที่ดีมันต้องมีเขี้ยวเล็บพอสมควรเลย ไว้อัดผู้รับเหมา อัดดีไซเนอร์ รับแรงกดดันจากเจ้าของ วิธีคิดมันก็จะเปลี่ยนไปจากดีไซเนอร์ ที่เรามองเห็นแต่สิ่งสวยงาม แต่นี่เราเน้นแก้ปัญหา
พอทำคอนซัลท์ได้สักพักนึง ตอนนี้พี่ก็มาทำอยู่ที่ BanyanTree ก็มาทำเป็นฝ่ายออกแบบ Inhouseให้กับเจ้าของ บริษัทชื่อ Architrave Design & Planning ออกแบบโรงแรม รีสอร์ท ในเครือ Banyan Treeแล้วก็อังศนาแก้แบบในมุมมองของสถาปนิก ตอนนี้ส่วนใหญ่งานที่พี่ทำจะเป็นโปรเจคของเมืองจีน ออฟฟิศมันจะมีอยู่ 3 ที่ อยู่สิงคโปร์ ที่กรุงเทพฯ แล้วก็ที่เซี่ยงไฮ้ ที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็เป็นฝ่าย Production ฝ่ายทำแบบ แล้วก็ส่งไปใหเมืองเมืองจีนดำเนินการก่อสร้างตอนนี้ทำมาประมาณ 5 ปีแล้ว
สรุปประวัติการทำงานของพี่เส
-           บริษัทรับสร้างบ้าน (ประมาณ 1 ปี)
-           Freelance
-           Idin Architect (ประมาณ 3 ปี)
-           Freelance
-           อรุณชัยเสรี (ACS) (1 ปีกว่า)
-           Architrave Design & Planning (ประมาณ 5 ปี)


พู่กัน: ให้พี่ช่วยยกตัวอย่างงานของพี่ ที่พี่คิดว่าเป็นงานที่ดี ที่พี่ชอบหน่อยครับ
พี่เส: ก็อย่างงานตอนอยู่ ไอดิน เนี่ย งานก็จะมีคอนเซปว่า ใกล้ชิดธรรมชาติ Design in Nature อะไรประมาณนี้ พี่ก็ชอบตอนอยู่ไอดินนะ คอนเซปมันก็คือ พยายามใช้พื้นถิ่นมาเป็นส่วนผสมในการออกแบบ แต่การออกแบบจะไปในแบบ Modern Contemporary มันไม่จำเป็นต้องไทยมาก มันสามารถประยุกต์ได้



พู่กัน: แล้วอุปสรรคในการทำงานของพี่ล่ะครับ
พี่เส: ก็มีช่วงที่แบบจบมาใหม่ๆ ตอนนั้นต้องกลับมาฟื้นงานคอมใหม่เลยนะ ด้วยความที่เราเรียนคอมตอนปี1 ปี2 แล้วมันก็ห้ามไปเลย ช่วงปี3 ถึงปี5 เนี่ยอาจารย์ห้ามใช้คอม ทุกอย่างที่เรียนมาหายหมดเลยข้างนอกเขาใช้คอมแล้ว เวลาเราเขียนนี่นาน นั่งทำกว่าจะได้ ต้องหาหนังสือมาอ่าน
                แล้วก้อพวกเรื่องภาษา สำคัญมาก ถ้าเราสนใจภาษาอังกฤษเนี่ย มันมีผลต่อการทำงานมาก ยิ่งถ้าเด็กสถาปัตย์ ไม่ค่อยอ่าน Text ก็จะไม่ค่อยเข้าใจ Concept ของในหนังสือเล่มนั้นว่ามันเขียนว่าอะไร แต่ถ้าเรารูสิ่งที่เขาพยายามอธิบายแนวคิด เราก็จะก้าวข้ามไปอีกขั้นนึงมากกว่าแค่ดูรูป เรื่องภาษาเป็นเรื่องสำคัญ

พู่กัน: แล้วพวก Concept การออกแบบล่ะครับ เราไม่ค่อยได้เน้นเท่าไหร่ตอนเรียน ที่เน้น Con มากกว่า มีปัญหาเรื่องนี้มั้ยครับ
พี่เส: มันอยู่ที่ว่าเราอยากจะเป็นสถาปนิกในขั้นตอนไหน เราอยากเป็นพวกนักคิด นักฝัน รึเปล่า  หรือจะเป็นฝ่ายที่จะทำให้อาคารมันออกมาได้สมบูรณ์ มันอยู่ที่เราเลือก เราเลือกอยากที่จะเป็นอะไร แต่ถ้าเราเลือกที่จะเป็นฝ่ายออกแบบ เราก็ต้องออกแบบตามคอนเซป รูปแบบของออฟฟิศเป็นหลัก อาคารที่มันเกิดขึ้นมาแต่ละหลัง มันเกิดขึ้นมาจาก Main Idea ของคนๆนึงก่อน แล้วที่เหลือก็เอาไปต่อความฝันเขาให้เป็นรูปร่าง  อันนี้มันเป็นอุปสรรคอย่างนึงของเด็บจบใหม่ที่มันเพ้อฝันสู้ของคณะอื่นไม่ได้ อาจจะเป็นที่เรื่องของลาดกระบังเนี่ย หนักไปทาง Con สามารถสร้างได้จริงงาน ทุกงานไม่รู้ Conก็ทำไม่ได้ หมดสิทธิ์เพ้อฝัน อันนี้คือข้อเสียอย่างนึงแต่มันก็มีข้อดีที่เด่นชัดของเด็กลาดกระบัง ที่สามารถเติมความฝันให้กับเขาได้ อธิบายมา Sketch ส่งให้เอาไปเขียนต่อได้เลย ไม่ต้องมาอธิบายยืดยาว แต่ถ้าเทียบกับของที่อื่น ไม่รู้ว่าเขาฝันไปถึงไหนแล้ว แต่ถ้า Concept มันแรงแล้ว ต้องดูว่าสามารถเอาไปก่อสร้างจริงได้รึเปล่า หรือว่าเป็นแค่ความเพ้อฝัน ถ้ามองในแง่  Design ปัญหาของเด็กลาดกระบังก็คือว่า อาจจะโดนตีกรอบด้วยความที่ Con มันมาเกี่ยวข้อง บางทีมันก็เป็นกรอบให้เราไม่สามารถหลุดไปจากอะไรบางอย่างเดิมๆได้ แต่ถ้ามองในแง่ Con ก็คือเราสามารถสร้างทุกอย่างตามความฝันได้ อันนี้ที่ลาดกระบังไม่เหมือนคนอื่น
                แต่ก็อย่างที่พี่บอก ว่าถึงเราเข้าไปทำงานดีไซน์ ก็ยังไม่ได้ออกแบบตามแบบเราเท่าไหร่ ถ้าเราไม่ได้รับ Freelance ออกมาเอง หรือเราไม่ได้เริ่มตั้งเป็นออฟฟิศเราเอง ส่วนใหญ่ที่ตั้งออฟฟิศอ่ะ คือเขาอยากทำตามความฝันของเขา เพียงแต่ว่าถ้ามีคนมา Support ได้ ฝันเขาก็จะได้เป็นจริง แต่พวกที่อยู่ในออฟฟิศทั่วไป เขาพอใจในสิ่งที่ว่าเขสามารถเติมเต็มความฝันของเจ้านายได้ แล้วสามารถเอาไปให้ลูกค้าชื่นชมได้

พู่กัน: แล้วลักษณะงานของ Freelance กับทำงานในออฟฟิศนี่มันแตกต่างกันยังไงครับ
พี่เส:Freelance ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่า อิสระ มันไม่มีใครมาดูว่าเราทำงานตอนไหน ข้อดีกับข้อเสียมันก็มี ข้อดีของ Freelance คือ เราต้องตั้งเวลาของเราเองว่า วันนึงเราจะทำงานกี่ชั่วโมง กี่วันถึงจะเสร็จ มันไม่มีใครบังคับ แล้วระหว่างที่เราไม่มีอารมณ์ทำงานเนี่ย งานไม่เดิน เราจะทำอะไร เราต้องควบคุมตัวเราเองได้ แล้วเราก็ต้องหางานเอง บางทีมันก็มีงานที่เรารับ แล้วเขาก็จ้างเราต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าบางทีเราไม่มีมีงานเราก็อาจจะมีเวลาว่างไปทำอย่างอื่นได้ แล้วเราก็ต้องหาวิธีว่าในช่วงที่เราไม่มีงานเราจะไปทำอะไรให้มันมีรายได้แต่ถ้าเป็นในลักษณะออฟฟิศเนี่ย ทุกคนมีงาน ได้เงินเดือนที่แน่นอน ถ้ามีผู้บริหารที่สามารถบริหารคนและให้งานออกแบบมันไปได้เนี่ย บริษัทนั้นก็จะอยู่รอด ทุกคนที่จบสถาปัตย์มา ทุกคนต้องอยากออกแบบกันอยู่แล้วเพียงแต่ว่า เวลาเราตั้งออฟฟิศเนี่ย เราจะทำยังไงให้งานมันเข้ามาหมุนในออฟฟิศได้เรื่อยๆ พอเราตั้งออฟฟิศ มันก็มีค่าใช้จ่ายนู่นนี่ ข้อดีข้อเสียมันก็อยู่ที่ว่าเราชอบแบบไหน

พู่กัน: แล้วการที่พี่เริ่มทำFreelance พี่หางานมาจากที่ไหนครับ
พี่เส:ที่คณะ จากรุ่นพี่ อาจารย์ หรือคนใกล้ตัวก่อน หรือไม่ก็รับงานนอกจากออฟฟิศตอนฝึกงาน บางทีงานเขาเยอะ เขาก็จะส่งมาให้เราทำ

พู่กัน: แล้วในระหว่างที่เราทำงานออฟฟิศนี่เรารับงาน Freelance ได้มั้ยครับ
พี่เส: ที่ออฟฟิศเขาจ้างเราทำงานให้เขาวันนึง 8 ชั่วโมง วันนึงเราต้องนอน 8 ชั่วโมง แล้วเขาจ้างเรา 8 ชั่วโมง เราทำงานให้เขาได้เต็มที่ 8 ชั่วโมงแล้วรึเปล่า เหลืออีก 16 ชั่วโมง นอน 8 ชั่วโมง อีก 8 ชั่วโมงสำหรับพักผ่อน ถ้าใน 8 ชั่วโมงของเราเนี่ย เราสามารถทำงานได้ โดยที่ไม่กระเทือน 8 ชั่วโมงแรกเนี่ยก็โอเค ถ้าเราสามารถจัดการตัวเราเองได้ มันก็ดีเป็นการขยันเก็บเงิน ตอนสมัยพี่ทำงานใหม่ๆ พี่ก็ทำ พี่ก็รับ หลังพี่ก็รู้สึกว่าทำงานวันละ 8 ชั่วโมงก็พอแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนมาพักผ่อน มาดูแลร่างกาย อยู่ที่คน บางคนเขาก็ไม่เป็นไร ทำงานเก็บเงิน

พู่กัน: แล้วการทำ Freelance นี่มันเป็นการทำงานคนเดียวแล้วได้ทำงานที่หลากหลายกระบวนการ ได้ใช้ความสามารถมากกว่าการทำงานในออฟฟิศที่แบ่งฝ่าย แบ่งงานกันรึเปล่าครับ
พี่เส: อย่างน้อยๆก็ได้ติดต่อกับคน เราอาจจะมีงานที่ต้องจ้างคนอื่นทำต่อ มันจะต้องมีการติดต่อสื่อสาร กระบวนการติดต่อมันก็เป็นขั้นตอนนึงในการทำงาน ก็อาจจะได้ทำอะไรๆมากกว่า แต่ก็แล้วแต่คนชอบ เราทำแล้วเรามีความสุข ไม่เดือดร้อนคนที่เราทำงานด้วย เราก็ทำไป

พู่กัน: ข้อคิดในการทำงาน การปฏิบัติตนในฐานะสถาปนิกของพี่ล่ะครับ
พี่เส: ก่อนอื่นเราต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเราเองก่อน ถ้าเราซื่อสัตย์ต่อตัวเรา มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลาเรามีจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ การทำงานต่างๆเนี่ย มันก็จะทำให้งานออกมาประสบผลสำเร็จมากกว่าเราไม่มีจรรยาบรรณ ดูอย่างพวกอาคารทั้งหลายที่มันมีปัญหา มันเกิดจาก เราเห็นแก่ตัว เราไม่เห็นจรรยาบรรณ เราเห็นเงินสำคัญกว่า การที่เราจะประกอบวิชาชีพ การยึดจรรยาบรรณอาจไม่ได้ทำให้เรารวย แต่มันทำความสุขให้เราได้ แค่นั้นแหละ แล้วมันไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน อาชีพเรามันต้องมีความรับผิดชอบสูง สูงเกินกว่าที่เราไม่มีจรรยาบรรณ แล้วทำให้เกิดความเสียหายต่อคนอื่น เราเป็นสถาปนิก เราต้องสร้างสิ่งที่มันสวยงาม และมีเหตุมีผล มีความสุนทรีย์อ่ะ เราจะต่างจากพวกคนอื่นที่เขาทำก็คือ เราจะมองความงามของศาสตร์และศิลป์ แล้วมันก็มารวมอยู่ในตัวเรา ซึ่งอาชีพอื่นอาจจะไม่มี คนที่ไม่มีจรรยาบรรณอาจจะไม่มี นี่แหละเขาถึงเรียกว่า “สถาปนิก”

พู่กัน: พี่คิดเห็นยังไงกับจรรยาบรรณวิชาชีพสถาปนิกครับ
พี่เส: การที่เราจะออกไปประกอบวิชาชีพได้ เราก็ต้องมีใบประกอบอนุญาติ กว่าเราจะได้ใบประกอบอนุญาติ เราก็ต้องไปสอบ พอไปสอบมันก็จะมีวิชาจรรยาบรรณ เป็นตราประทับไว้เลยอ่ะ ว่าสถาปนิกเป็นอาชีพที่ต้องมีเกียรติ มีใบอนุญาติ มีมาตรฐาน ไม่เหมือนศิลปินที่ไม่ต้องมีวิชาชีพ เพราะว่างานของสถาปนิก มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องในอาคาร ต้องรับผิดชอบ มันไม่ใช่อาชีพที่ใครๆก็ทำได้
จรรยาบรรณมันเหมือนเป็นเข็มทิศนำทางให้รู้ว่าเราจะไปทางไหน มันต้องมีเข็มทิศ ถ้าเข็มทิศมันส่าย เราก็จะไม่มีหลักในการเดิน ว่าเราจะเดินไปทางไหน เมื่อเราจบไปแล้วเนี่ย เราต้องเอาความรู้ไปรับใช้คนที่เขาต้องการจะมาจ้างสถาปนิก
การจะทำบ้านหลังนึง ถ้าฐานรากเราไม่แข็งแรง อาคารมันจะขึ้นสูงได้แค่ไหน จรรยาบรรณมันก็เหมือนเป็นรากฐาน ถ้าเราไม่มีจรรยาบรรณ ก็เหมือนเราไม่มีฐานราก ถ้าเกิดอาคารมันโครงขึ้นมาเนี่ย มันก็ไม่มีหลักไง จรรยาบรรณมันถึงสำคัญ เป็นฐานของพีระมิดเลยอ่ะ
หรือเหมือนเรามีเรือ แต่เราไม่มีหางเสือ เรามีแต่ใบสำหรับแล่นเรือ เราก็ไปของเราไปเรื่อย เราก็บังคับไปซ้าย ไปขวาไม่ได้ แต่ถ้าเรามีจรรยาบรรณประกอบเป็นหางเสือ เราก็จะรู้ว่า เรือมันจะพุ่งไปทางไหนได้ จะออกซ้าย ออกขวา ลมมีก็จริง แต่เราสามารถบังคับให้เรือมันวิ่งไปได้ มันก็จะเหมือนเป็นทางให้เราไป ทางแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน มันก็จะมีเป้าหมายว่าทางที่เราไป ไปแล้วมันจะเจออะไร หนทางจะไปได้ ก็อยู่ที่หางเสือตัวนี้ เรียกว่าจรรยาบรรณของการประกอบวิชาชีพสถาปนิก เราไม่มีจรรยาบรรณบางทีเราอาจจะเป็นคนไร้จุดหมายไร้ทิศทางก็ได้

พู่กัน: แล้วพี่คิดยังไงกับการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมครับ
พี่เส: มันเป็นสิ่งที่ต้องใช้อยู่แล้วล่ะ เราลองคิดดูว่า เรามีที่อยู่ที่นึง บนเนินเขา ไม่มีต้นไม้ มีแต่บ้านเราหลังนึง แล้วเรารู้สึกยังไง รีสอร์ทมีแต่อาคาร ไม่มีต้นไม้เลยมันก็กลายเป็นทัศนอุจาด ถ้าไม่มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเนี่ย อาคารมันอยู่ได้อาคารเดียว หรือว่ามันต้องพึ่งพาอาศัยกับสภาพแวดล้อม ที่มีกฎหมาย EIA ก็เพื่ออาคารมันจะสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและมันไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ กับอาคารอื่น และสภาพแวดล้อมโดยรอบ ถึงต้องมีกฎหมายนี้ เพื่อที่ว่าในอาคารๆนึง ในพื้นที่บริเวณนึง มันสัมพันธ์กับพื้นที่รอบๆรึเปล่า ถ้ามันไม่สัมพันธ์ แสดงว่านี่ก็เป็นจุดมะเร็ง ที่พร้อมที่จะทำให้พื้นที่สีขาวกลายเป็นจุดสีดำ แล้วถ้าจุดสีดำมันแตก มันก็จะลามไปทั่วบริเวณ กฎหมาย EIA มันถึงสำคัญ ถ้าเราไม่มีสภาพแวดล้อม เราอยู่ตัวคนเดียวในที่ๆนึงได้มั้ย เราไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร เพราะฉะนั้นกฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมเนี่ยเป็นเหมือนตัวควบคุมไม่ให้เราออกแบบอะไรนอกลู่นอกทาง เวลาเราออกแบบเราก็ต้องคำนึงถึงคนอื่น เราออกแบบสวยงาม แต่เราไม่สนใจอาคารรอบข้าง ไม่สนใจเทศบัญญัติ มันก็สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น และมันก็ไม่ใช่อาคารที่ดี นอกจากจะส่งผลกับคนอื่นแล้วยังส่งผลต่อผู้ใช้อาคารในระยะยาวด้วย

พู่กัน: สุดท้ายก็อยากให้พี่ฝากอะไรถึงน้องๆที่กำลังเรียนอยู่
พี่เส: ตั้งใจเรียน เข้าเรียน มีความรับผิดชอบ ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดก่อนในตอนนี้ ตอนนี้เราเป็นนักศึกษา เราก็มีโอกาสที่ได้เรียนได้ทำอะไรที่มันไม่เหมือนคนอื่น มีคนที่เขาอยากเรียนแต่ไม่มีโอกาสได้เรียนมีเยอะมาก เราอย่าปล่อยโอกาสตรงนี้ไป เสียดายเวลา เวลา 5 ปี มันไม่นานอ่ะ แต่เป็น 5 ปีที่สนุก และไม่เหมือนใคร ก็อยากฝากน้องๆว่า ประสบการณ์การเรียน พอเราจบไปแล้วเราจะกลับมารื้อฟื้นอะไร มันไม่ได้แล้ว เวลามันก็เดินต่อไปเรื่อยๆ เราไม่ได้ทำอะไรใน 5 ปีให้เป็นรูปเป็นร่าง ตั้งใจเรียน อย่าให้เสียโอกาส แล้วก็อยากทำอะไรก็รีบทำก่อน การเรียนในคณะ มันเป็น 5 ปีที่มีความสุขแล้วก็ไม่เหมือนคณะอื่น



สุดท้ายนี้ขอขอบคุณพี่เส เสนีย์ ห้วยหงษ์ทอง มากครับ ที่เสียสละเวลามาให้ความรู้ ทัศนคติ และเล่าประสบการณ์ที่ดีในการเรียนและการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้นำความรู้ ข้อคิดที่ได้มาปรับใช้ในการเรียนและประกอบวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น